สหกรณ์รับเงินฝากจากสมาชิก 2 ประเภท คือ
(1) เงินฝากออมทรัพย์
(2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ แยกเป็น 2 ประเภท
2.1) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 1
2.2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 2
การเปิดบัญชีและการฝากเงิน
ผู้ประสงค์จะเปิดบัญชีเงินฝากต้องยื่นหนังสือขอเปิดบัญชีเงินฝากตามแบบของสหกรณ์ โดยมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในแบบหนังสือขอเปิดบัญชีนั้น พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งต้องปฏิบัติตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ด้วย
ผู้ฝากคนหนึ่งสามารถเปิดบัญชีเงินฝากได้ดังนี้
(1) เงินฝากออมทรัพย์ ผู้ฝากรายหนึ่งอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในสหกรณ์นี้ได้ โดยจำนวนเงินฝากเปิดบัญชีนั้นต้องไม่น้อยกว่า 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) และผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเท่าใดจำนวนเท่าไรก็ได้
(2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ผู้ฝากรายหนึ่งอาจเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษในสหกรณ์ได้ 2 ประเภท ดังนี้
2.1) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 1 จำนวนเงินฝากเปิดบัญชีนั้นต้องไม่น้อยกว่า 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) และผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
2.2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 2 จำนวนเงินฝากเปิดบัญชีนั้นต้องไม่น้อยกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และผู้ฝากจะส่งเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย วิธีการคิดดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ให้คำนวณเป็นรายวันตามยอดคงเหลือ และสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินฝากในวันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ คำนวณเป็นรายวันตามยอดคงเหลือ และสหกรณ์จะนำดอกเบี้ยทบเป็นต้นเงินฝากในวันที่ 31 มีนาคม, 30 มิถุนายน, 30 กันยายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี
การถอนเงินฝากจากบัญชี สามารถกระทำได้ดังนี้
(1) การถอนเงินฝากออมทรัพย์ ผู้ฝากจะขอถอนเมื่อใด จำนวนเท่าใดก็ได้
(2) การถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ผู้ฝากมีสิทธิ์ถอนได้ในเดือนถัดไปนับจากเดือนที่เปิดบัญชี และสามารถถอนได้เดือนละ 1 ครั้ง
การถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 1 เมื่อถอนแล้วให้คงเหลือยอดเงินในบัญชีเงินฝากนั้นไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
และการถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 2 เมื่อถอนแล้วให้คงเหลือยอดเงินในบัญชีเงินฝากนั้นไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
(3) การถอนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ผู้ฝากมีสิทธิ์ถอนได้ในเดือนถัดไปนับจากเดือนที่เปิดบัญชี และสามารถถอนได้เดือนละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการถอนเงิน
แต่ถ้าเดือนใดถอนเงินฝากเกินกว่า 1 ครั้ง การถอนเงินฝากตั้งแต่ครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการถอนเงินปิดบัญชีเลิกฝากด้วยก็ตาม จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนเงิน ดังนี้
3.1) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 1 อัตราร้อยละหนึ่งของยอดเงินที่ถอนแต่ละครั้ง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
3.2) เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ประเภท 2 อัตราร้อยละหนึ่งของยอดเงินที่ถอนแต่ละครั้ง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าครั้งละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน)
การถอนเงินฝากเพื่อปิดบัญชี ผู้ฝากจะถอนเงินฝากคงเหลือทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีเงินฝากของตนเมื่อใดก็ได้ ให้ผู้มีอำนาจถอนเงินจดแจ้งไว้ท้ายรายการจำนวนเงินในใบถอนเงินฝากด้วยว่า
“เพื่อปิดบัญชี” สหกรณ์จะคำนวณดอกเบี้ยให้ ณ วันที่ถอนนั้น
ในกรณีที่ผู้ฝากถึงแก่กรรม สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินคงเหลือทั้งหมดในบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ที่ได้ตั้งไว้ตามพินัยกรรม หรือถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็คืนให้แก่บุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ถึงแก่กรรม
หรือนำหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่าเป็นทายาทของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินดังกล่าวนั้น
การปิดบัญชีเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหว โดยสหกรณ์จะทำการปิดบัญชีเงินฝาก ดังต่อไปนี้
1) บัญชีเงินฝากที่มียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีไม่เกิน 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) และไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 1 ปี
2) บัญชีเงินฝากที่มียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเกิน 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 150 บาท(หนึ่งร้อยห้าสิบบาทถ้วน) และไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 2 ปี
3) บัญชีเงินฝากที่มียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเกิน 150 บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 200 บาท(สองร้อยบาทถ้วน) และไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 3 ปี
4) บัญชีเงินฝากที่มียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเกิน 200 บาท (สองร้อยบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 250 บาท (สองร้อยห้าสิบบาทถ้วน) และไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 4 ปี
5) บัญชีเงินฝากที่มียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเกิน 250 บาท (สองร้อยห้าสิบบาทถ้วน) แต่ไม่เกิน 300 บาท (สามร้อยบาทถ้วน) และไม่มีการเคลื่อนไหวภายใน 5 ปี
**สำหรับบัญชีเงินฝากที่มียอดเงินคงเหลือในบัญชีเกินกว่า 300 บาท (สามร้อยบาทถ้วน) ขึ้นไป ให้คงเดิม**